สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สาหร่ายผมนาง

สาหร่ายผมนางกราซิลาเรีย ฟิชเชอไร เป็นชื่อเรียกตามท้องถิ่น เป็นสาหร่ายสีแดงสกุลกราซิลาเรียอยู่ในดิวิชันโรโดไปต้า คลาสโรโดไปซี มีอยู่หลายสกุล สาหร่ายที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตวุ้นสกุลกราซิลาเรียมีอยู่หลาย สายพันธุ์ และมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นเช่น ในประเทศไทยเรียกสาหร่ายผมนาง, สาย, สาหร่ายข้อ, สาหร่ายเขากวาง หรือสาหร่ายวุ้น แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งของอ่าวไทยและฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เช่น จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ระนอง ปัตตานี และ นราธิวาส สาหร่ายผมนางกราซิลาเรียส่วนมากจะขึ้นในบริเวณดินปนทราย 


ลักษณะทั่วไปของสาหร่ายผมนาง Gracilaria fisheri
สาหร่ายผมนางกราซิลาเรีย ฟิชเชอไร มีทัลลัสตั้งตรง เป็นรูปเรียวยาว ทรงกระบอก กลมหรือแบน อวบน้ำ ลักษณะของทัลลัสมีตั้งแต่บอบบาง อ่อนนุ่ม หักง่าย เปราะ ไปจนกระทั่งเหนียวเหมือนผังผืด หรือกระดูกอ่อน การเจริญเติบโตเกิดได้ 2 ทาง คือ การเจริญเติบโตที่เซลล์ปลายยอดและการแตกแขนงด้านข้าง เนื่องจากสาหร่ายผมนางกราซิลาเรียฟิชเชอไร เป็นสาหร่ายสีแดงที่มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกดังกล่าว ดังนั้นจึงมีขนาดรูปร่างที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่สีแดง-ดำ, แดง, น้ำตาล, แดง-น้ำตาล, ชมพู, ม่วงเข้ม, แดง-ม่วง, เทา, เขียว, เหลือง หรือใส เมื่อตากแห้งจะเป็นสีน้ำตาลไหม้ ดำ เทา หรือน้ำตาล ความยาวของทัลลัสตั้งแต่ 4 เซนติเมตรถึง 3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5 ถึง 4.0 มิลลิเมตร

สารสีของสาหร่ายผมนาง กราซิลลาเรีย ฟัชเชอไร ประกอบด้วยคลอโรฟิลล์ เอ คลอโรฟิลล์ ดี ไฟโคผลิน เช่น อาร์-ไฟโคอิริทริน อาร์-ไฟโคไซยานิน ซี-ออลโลไฟโคไซยานิน คาโรทีนอยด์ เช่น เบต้า-คาโรทีน แอนเทอราแซนติน เป็นต้น

สภาพนิเวศวิทยาและการกระจายของสาหร่ายผมนาง
สาหร่ายผมนาง Gracilaria มีกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีประมาณไม่น้อยกว่า 160 ชนิด ในธรรมชาติสาหร่ายผมนาง Gracilaria จะปรากฎอยู่บริเวณน้ำขึ้น-น้ำลง และบริเวณที่อยู่ใต้น้ำตลอดเวลา โดยจะพบเกาะอยู่กับวัสดุในน้ำ เช่น เปลือกหอย กรวดทราย หรืออยู่เป็นอิสระไม่เกาะกับวัตถุใดๆ สาหร่ายผมนางบางชนิด เช่น กราซิลาเรีย ฟิชเชอไร จะเจริญอยู่บริเวณป่าชายเลน ซึ่งเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม มักพบเกาะกับรากไม้ หรือบางส่วนจมอยู่ในโคลนเลน สาหร่าย Gracilaria สามารถอยู่ในน้ำลึกถึง 110 เมตร
ในประเทศไทยจะพบสาหร่ายผมนาง กราซิลาเรีย ฟิชเชอไร ได้ทั่วไปบริเวณน้ำตื้นหรือชายฝั่งที่ลมพัดไม่แรงมากนัก สาหร่ายผมนางพวกนี้อาจขึ้นรวมกับสาหร่ายชนิดอื่นหรือขึ้นตามลำพังชนิดเดียว ก็ได้โดยอิสระหรือยึดเกาะกับก้อนกรวด หิน เปลือกหอย โดยใช้โฮลด์ฟาสที่เป็นที่ยึดเกาะ นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ตามบริเวณป่าชายเลนโดยจะอยู่บริเวณน้ำตื้น พื้นเป็นทรายปนโคลน ความลึกของน้ำทะเลไม่เกิน 1 ถึง 2 เมตร
การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนาง Gracilaria fisheri

สาหร่ายสกุลกราซิลาเรีย มีพฤติกรรมของการสืบพันธุ์แบบมีเพศเป็น 3 ลักษณะประกอบด้วย gametophyte, sporophyte และ carposporophyte stages โดยสลับกันไป สามารถรวบรวมสปอร์ได้จากการวางวัสดุล่อสปอร์ในแหล่งน้ำที่มีสาหร่ายชุกชุม กับผลิตพันธุ์สาหร่ายอ่อนได้จากการเลือกคัดต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์มาใช้ขยาย พันธุ์ในถังเพาะ โดยวางวัสดุรองรับสปอร์ภายใต้ต้นพันธุ์ซึ่งต้องใช้เวลานาน 2-3 วัน เพื่อให้สปอร์เริ่มเจริญพันธุ์และเกาะบนวัสดุได้อย่างมั่นคงแล้วจึงเคลื่อน ย้ายไปยังถัอนุบาลและแหล่งเลี้ยงสาหร่ายต่อไป สปอร์จะตกและเคลื่อนออกจากกระเปาะหุ้มสปอร์สู่ภายนอกได้ดีในน้ำเค็ม 30 ppt มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 17-30 ไมครอน เมื่อมีอายุ 3-4 วัน จะยึดเกาะบนวัสดุและเจริญพันธุ์เป็นสาหร่ายอ่อนภายใน 33-40 วันในน้ำที่มีความเค็ม 10-15 ppt อุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส, pH 7.2-8.1 ในความเข้มของแสง 800-2,000 Lux.

ความสำคัญของสาหร่ายผมนาง
1. ด้านอาหาร
- ใช้เป็นอาหารมนุษย์ ประเทศที่นิยมนนำสาหร่ายผมนางสกุลกราซิลลาเรียมาบริโภคเป็นอาหารได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ เวียดนาม คุณค่าทางอาหารที่ได้จากสาหร่ายผมนางกราซิลลาเรีย ฟิชเชอไร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ โดยเฉพาะธาตุไอโอดีนและวิตามิน
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ใช้เลี้ยง สุกร วัว ม้า ฯลฯ โดยให้กินสดๆ โดยเก็บมาวางกองหรือลงไปกินบริเวณชายฝั่งทะเลสาบหรืออาจจะนำไปสับให้เป็น ท่อนเล็กๆผสมกับอาหารสุกรต้มให้สุก นำไปเลี้ยงสุกรจะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว

2. ด้านเกษตรกรรม
- ใช้ทำปุ๋ย สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ดี เพราะมีธาตุไนโตรเจนและโปตัสเซียมสูง และยังมีแร่ธาตุปริมาณน้อย (Trace element) ที่จำเป็นต่อพืชอย่างมาก เช่น ไอโอดีน ไบรอน ทองแดง ฯลฯ นอกจากนี้ใช้เป็นปุ๋ยน้ำโดยตรงด้วยการบดละเอียด ผสมกับน้ำอัตราส่วน 1:500 ลิตร ใช้รดต้นไม้
- ใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยใช้น้ำสกัดจากสาหร่ายทะเล ฉีดพ่นตามต้นพืช จำพวกหัวผักกาดหวาน พบว่า ป้องกันเพลี้ยและเชื้อราได้ และยังสามารถป้องกันการสูญเสียของผลไม้ ในขณะอากาศหนาวจัดได้ด้วย


3. ด้านการแพทย์
นิยมใช้สาหร่ายมาทำยารักษาโรค โดยใช้รักษาโรคกระเพาะ ยาระบาย และยาแก้โรคคอพอกและยังนำวุ้นมาทำเป็นแคปซูลสำหรับหุ้มยา นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะหย่อน ลำไส้ใหญ่อักเสบ ริดสีดวงทวาร ใจสั่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็ง ข้ออักเสบ โรคอ้วนต่างๆ ถ้าได้รับประทานสาหร่ายเป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการทุเลาลงได้

4. ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
สาหร่ายผมนางใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ เช่น วุ้น ซึ่งสกัดได้จากสาหร่ายทะเลสีแดงโดยเฉพาะสาหร่ายผมนาง Gracilaria มีวุ้นมากที่สุด เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ทำวุ้นชนิดเส้น แผ่น หรือ ผง
.
ประโยชน์ของสาหร่าย
วุ้นที่สกัดจากสาหร่ายผมนางนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมแยม ขนมปัง เนย มายองเนส และลูกกวาด โดยเป็นตัวช่วยให้นิ่มและข้น ใช้ผสมในอาหารกระป๋อง ช่วยป้องกันสนิม ผสมเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ เบียร์ ช่วยทำให้สีใสไม่ตกตะกอน
- ผลิตภัณฑ์ยา ใช้เป็นยาระบาย แคปซูลยา ใช้เลี้ยงแบคทีเรีย
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใช้ผสมครีมและน้ำมันทาผิว
- ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและกระดาษ ใช้ย้อมเส้นด้าย เคลือบกระดาษ ทำกาว
- เคลือบผิวอาหารที่จะแช่แข็ง

โทษของสาหร่าย
- ทำให้น้ำมีกลิ่น สี และรส เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีธาตุอาหารมาก จะทำให้สาหร่ายเจริญ และทวีจำนวนอย่างรวดเร็วจนเต็มผิวน้ำ เรียกว่า ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrofication)
- เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยง เช่น ปลา กบ เต่า ฯลฯ การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสาหร่าย ทำให้น้ำบริเวณนั้นเกิดเน่า เป็นพิษ เพราะเกิดแก๊ส H2S ปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อยลง สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก
- ทำลายเครื่องมือจับปลา เช่น กระชังปลา กระชังกุ้งให้เสียหาย
- ทำลายนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเล ถ้าหากว่าสาหร่ายทะเลเพิ่มจำนวนมากในเวลารวดเร็ว

view