สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้อยหน่า

น้อยหน่า

        ลักษณะทางธรรมชาติ
      * เป็นพืชเมืองร้อน ปลูกได้ทุกภาค ทุกพื้นที่ และทุกฤดูกาล เจริญเติบโตดีในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งหรือพื้นที่ลาดเชิงเขา ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินลูกรัง  มีอินทรีย์วัตถุมากๆ  ระบายน้ำได้ดี ไม่ทนต่อน้ำขังค้าง  ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาค                         

     * กิ่งตอนหรือกิ่งทาบเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2-3 ปี              

     * ช่วงพักต้นและช่วงพัฒนาดอก-ผลต้องการน้ำพอหน้าดินชื้น แต่ช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช.ต้องการความแห้งแล้ง                         

     * ต้องการแสงแดด 100 เปอร์เซ็นต์  สังเกตต้นที่ปลูกอยู่ริมศาลพระภูมิได้รับแสงจากหลอดไฟศาลพระภูมิทุกคืน  ตลอดคืน  และเป็นระยะเวลายาวนาน  เมื่อตัดกิ่งแก่กิ่งใดกิ่งแก่กิ่งนั้นจะแตกยอดใหม่จากข้อใต้รอยตัดแล้วออกดอกติดผลเองโดยไม่ต้องบำรุงเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด  แสดงว่าแสงไฟทำให้น้อยหน่าออกดอกติดผลได้เหมือนแก้วมังกร
                        

     * ออกดอกพร้อมกับยอดที่เกิดใหม่หลังการตัดแต่งกิ่งเหมือนฝรั่ง 
                         

     * ต้นสมบูรณ์เต็มที่เพราะได้รับการบำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีติดต่อกัน เมื่อดอกชุดแรกออกจากช่วงปลายของกิ่งแก่แล้ว  ดอกชุด 2 และชุด 3 ยังสามารถออกจากโคนของกิ่งแก่เดียวกันนั้นได้อีกด้วย                        

     * ออกดอกติดผลได้ทั้งกิ่งชายพุ่มและกิ่งภายในทรงพุ่มที่แสงแดดส่องถึง
                        
     * ดอกสมบูรณ์เพศ ผสมกันเองภายในดอกเดียวกัน หรือต่างดอกต่างต้นได้
                        
     * เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) ผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว                        

     * แม้ไม่ตัดแต่งกิ่งก็ออกดอกติดผลได้แต่ดอกที่ออกมาจะไม่พร้อมกันเป็นชุดใหญ่ ไม่ดก และคุณภาพผลก็ไม่ดีเท่ากับดอกผลที่เกิดจากกิ่งที่ได้รับการตัดแต่ง 
                           

     * ระยะ  ดอก – ผลเล็ก – ผลกลาง – ผลแก่  ถ้าต้นได้รับน้ำและสารอาหารสม่ำเสมอจะช่วยให้ผลสมบูรณ์ โตเร็ว  ขนาดผลใหญ่  แม้ผลไม่แก่จัดแล้วเก็บไปบ่มให้สุก  กลิ่นและรสชาติก็ยังดีเหมือนผลแก่จัด  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าต้นขาดน้ำและสารอาหารหรือได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้ผลเล็กแคระแกร็น ผลที่แก่ไม่จัดเก็บไปบ่มจนสุกแล้วกลิ่นและรสชาติจะไม่ดีด้วย  
                               
       สายพันธุ์          
     1.น้อยหน่าพื้นเมือง
             
       ฝ้ายหรือฝ้ายเขียว :              
       ขนาดผลใหญ่ที่สุดในบรรดาพันธุ์พื้นเมืองทั้งหมด สีผิวเปลือกเขียวอ่อนหรือเขียวนวล  ร่องตาตื้น   เนื้อเป็นทราย  สีขาว  กลิ่นหอมรสหวานจัด  เปลือกกับเนื้อไม่ล่อน 
                       
       ครั่งหรือฝ้ายครั่ง :                 
       ขนาดผลเล็กกว่าฝ้ายเขียว   สีผิวเปลือกม่วงเข้ม  เนื้อสีขาวอมชมพู  เนื้อเละยุ่ย  กลิ่นหอมรสหวานจัด  เปลือกกับเนื้อไม่ล่อน       
     2.น้อยหน่าหนัง                        
       หนังเขียว :
                             
       เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากเวียดนาม เมื่อเทียบกับพันธุ์พื้นเมืองขนาดผลใหญ่กว่า สีผิวเปลือกเขียวนวลเหมือนกัน ตานูนน้อยกว่า ร่องตาตื้นกว่าแต่กว้างกว่า เนื้อขาวละเอียดมากกว่า กลิ่นหอมน้อยกว่า รสหวานกว่า จำนวนเมล็ดน้อยน้อยกว่า เนื้อล่อนจากเปลือก 
                       
       หนังทอง :                              
       กลายพันธุ์มาจากหนังเขียว ผิวเปลือกสีเขียวจางจนเกือบขาว เนื้อละเอียด เนื้อมาก  กลิ่นหอม  รสหวานไม่จัด  จำนวนเมล็ดน้อย   เปลือกล่อนไม่ติดเนื้อ
                        
       หนังครั่ง :                               
       กลายพันธุ์มาจากหนังเขียว  ผิวเปลือกสีม่วงเข้ม  ตานูน  ร่องสีชมพู  เนื้อขาวอมชมพู  เนื้อไม่เละ  กลิ่นหอม รสหวานไม่จัด  จำนวนเมล็ดน้อย  เปลือกล่อนไม่ติดเนื้อ
         
     3.พันธุ์ลูกผสม                           
       เป็นพันธุ์ที่ผสมขึ้นมาใหม่ระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ต่างประเทศที่คุณสมบัติดี     พันธุ์ลูกผสมใหม่ที่ได้รับความนิยม  ได้แก่  อาติมัวร์ย่า.  เพชรปากช่อง (นิยมมากที่สุด).  เนื้อทอง.  ฯลฯ 
                       
       หมายเหตุ :
                        
       พันธุ์ลูกผสมใหม่ในกลุ่มเดียวกันกับเพชรปากช่องมีทั้งสิ้นมากกว่า 20 สายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อพันธุ์  ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้สายพันธุ์นิ่ง  ในเบื้องต้นทราบผลว่าบางสายพันธุ์มีคุณสมบัติเหนือกว่าเพชรปากช่องและเนื้อทอง                         

       การขยายพันธุ์                        
       ทาบกิ่งเสียบยอดติดตาบนตอพื้นเมือง.  ตอน.  เพาะเมล็ด (กลายพันธุ์).  เพาะเมล็ดเสริมรากเสียบยอด (ดีที่สุด).                          

       เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ                          
     - ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
     - ให้ยิบซั่มธรรมชาติ  ปีละ 2 ครั้ง                        
     - ให้กระดูกป่น  ปีละ 1 ครั้ง                          
     - คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม  ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
     - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบืดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง                      

       หมายเหตุ :                        
     - การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่  ปลาสด  เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
                          
     - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน  ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่  การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
     - ให้กลูโคสเฉพาะช่วงสำคัญ เช่น เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่  สะสมอาหาร  บำรุงผลกลาง ช่วงละ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20-30 วัน.....ถ้าให้บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นเกิดอาการนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อสารอาหารหรือฮอร์โมนใดๆทั้งสิ้น                        
     - ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ  ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง                         

       เตรียมต้น                        
     
  ตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อน :
       หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดต้นแล้วให้ตัดแต่งกิ่งกระโดง  กิ่งคด  กิ่งงอ  กิ่งไขว้  กิ่งชี้ลง  กิ่งชี้เข้าในทรงพุ่ม  กิ่งหางหนู  กิ่งแห้ง  กิ่งเป็นโรค โดยตัดชิดลำต้นหรือชิดกิ่งประธานเพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง  ขั้นตอนนี้ยังไม่ตัดปลายกิ่งและยังไม่ริดใบทิ้ง  คงปล่อยให้อยู่กับต้นอย่างเดิม  จากนั้นเริ่มบำรุงด้วยสูตร  เรียกใบอ่อน  ทั้งทางใบและทางราก
                        
       ตัดแต่งกิ่งเพื่อเปิดตาดอก :                      
       บำรุงใบอ่อนที่ได้หลังจากตัดแต่งกิ่งครั้งแรกตามขั้นตอน จนถึงขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้ก่อน เมื่อเห็นว่าต้นแสดงอาการอั้นตาดอกเต็มที่แล้วจึงลงมือตัดแต่งกิ่ง โดยตัดแต่งกิ่งกระโดง  กิ่งคด  กิ่งงอ  กิ่งไขว้  กิ่งชี้ลง  กิ่งชี้เข้าในทรงพุ่ม  กิ่งหางหนู  กิ่งเป็นโรค  อีกครั้ง และตัดปลายกิ่งพร้อมกับริดใบทิ้งทั้งหมดจนโกร๋นเหลือแต่ต้น  แล้วงดน้ำเด็ดขาดเพื่อให้ต้นเกิดความเครียด  จากนั้นจึงลงมือเปิดตาดอก ต้นที่ถูกงดน้ำมาระยะหนึ่งแล้วก็จะแตกยอดใหม่พร้อมกับมีดอกออกตามมาด้วย                        
       ต้นสมบูรณ์จริงๆจะมีดอกออกมาพร้อมกับยอดแตกใหม่ทั่วทั้งกิ่ง แม้แต่โคนกิ่งแก่ก็ออกดอกแล้วพัฒนาเป็นผลคุณภาพดีได้  ทั้งๆที่ไม่มีการแตกยอดนำออกมาก่อน
                        
       ตัดแต่งกิ่งเพื่อปรับทรงพุ่ม :                            
     - ตัดกิ่งบังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดสามารถส่องได้ทั่วถึงทุกกิ่ง  กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
     - ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ  นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีและเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย                         
       ตัดแต่งราก :                         
     - น้อยหน่าระยะต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิ
ภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน 
     - ต้นอายุหลายปี  ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม.หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อน้อยหน่า       

     1. เรียกใบอ่อนเพื่อสะสมอาหาร
                

        ทางใบ :                
      - ให้น้ำ 100 ล.+ 46-0-0(200 กรัม)หรือ 25-5-5(200 กรัม) อย่างใดอย่างหนึ่ง + จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ  ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
      - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรทุก 2-3 วัน                
        ทางราก :                
      - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
      - ให้น้ำเปล่าปกติ  ทุก 2-3 วัน                

        หมายเหตุ :                
      - เริ่มให้หลังจากตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อน                 
      - การแตกใบอ่อนของน้อยหน่าไม่จำเป็นต้องพร้อมกันทั้งต้น แต่ต้นที่แตกใบอ่อนใหม่จำนวนมากย่อมดีกว่าต้นที่แตกใบอ่อนน้อย เพราะหมายถึงจำนวนใบที่ต้องใช้สังเคราะห์อาหาร
                 
      - ถ้าใบอ่อนชุดแรกออกมาไม่มากแต่ต้องการมากๆก็ให้ฉีดพ่นทางใบซ้ำอีก  1 รอบ ห่างจากรอบแรก 7-10 วัน  ก็ได้                
      - ยอดแตกใหม่ชุดนี้จะไม่มีดอกเพราะ 25-7-7 + จิ๊บเบอเรลลิน (ทางใบ) กับ 25-7-7 (ทางราก) เป็นตัวกำกับ แต่ถ้ามีดอกตามออกมาด้วยก็ให้เด็ดดอกนั้นทิ้งไป  วิธีป้องกันดอกออกมาพร้อมกับยอดให้ฉีดพ่นทางใบถี่ขึ้น        

    2. เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่                
       ทางใบ :                
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74 (200 กรัม) หรือ 0-39-39(400 กรัม)สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  พ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน                
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 

      หมายเหตุ :                
    - ลงมือปฏิบัติเมื่อใบอ่อนเริ่มแผ่กางหรือเพสลาด                
    - วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สังเคราะห์อาหารได้และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปเร็วขึ้น  กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงปากกัดปากดูด                
    - น้อยหน่าไม่จำเป็นต้องเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ เพราะหลังจากใบอ่อนออกมาแล้วจะมีดอกออกตามมา แต่ถ้าจะให้บ้างสัก 1 รอบหลังจากเห็นว่ามีใบอ่อนออกมามากพอสมควร ซึ่งสารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ (ฟอสฟอรัส. และ โปแตสเซียม.)ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ดอกออกมาดี
                
    - ใบอ่อนที่ออกมาแล้วปล่อยให้เป็นใบแก่ตามธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลา 30-45 วัน
        
   3. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก                
      ทางใบ :                
    - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน  ติดต่อกัน 2-3 รอบแล้วให้ น้ำ 100 ล.+ เอ็นเอเอ. 25 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. สลับ 1 รอบ  ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ติดต่อกัน 1-2  เดือน                 
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
       ทางราก :                
     - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                 

       หมายเหตุ :               
     - เริ่มให้ครั้งแรกเมื่อใบอ่อนที่แตกใหม่เพสลาดหรือกลางอ่อนกลางแก่
                
     - แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2-2 เดือนครึ่ง                 
     - จำนวนครั้งหรือระยะเวลาในการให้ไม่จำกัด  ขึ้นอยู่กับสภาพต้นมีความพร้อมสำหรับการเปิดตาดอก (อั้นตาดอก) หรือยัง  เนื่องจากน้อยหน่าไม่มีตุ่มตาดอกให้สังเกตจึงให้พิจารณาจากลักษณะใบ  กิ่ง  และสภาพทรงพุ่มเป็นหลัก        
       
     1. เรียกใบอ่อนเพื่อเปิดตาดอก                                 
        การปฏิบัติ :                
        กิ่งแก่ :
                  

        ตัดปลายกิ่งลึกเข้ามาถึงส่วนที่แก่จัดให้เหลือปลายกิ่งเป็น 2 แฉกแบบง่ามหนังสะติ๊ก  ขนาดความยาวของขาง่ามหนังสะติ๊กประมาณ 3-5 นิ้ว หลังจากตัดปลายกิ่งแล้ว กิ่งที่เหลือจะต้องมีตุ่มตาหรือข้อสำหรับแทงยอดใหม่ 3-5 ตุ่มเป็นหลัก                  
        กิ่งแขนง : 
        กิ่งขนาดโตขนาดนิ้วก้อยขึ้นไปให้ตัดปลายกิ่งทิ้งเหลือไว้แต่ส่วนกิ่งแก่และให้มีตุ่มตา 2-3 ตุ่ม
        กิ่งย่อย :                
        ให้ตัดทิ้งทั้งหมด ตัดชิดกิ่งประธาน ทั้งในทรงพุ่มและชายพุ่ม หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วให้รูดใบทิ้งทั้งหมดจนต้นเหลือแต่กิ่งเปล่าๆ จากนั้นเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุง
        ทางใบ :                
        งดการฉีดพ่นสารอาหารทุกชนิดเพราะบนต้นไม่มีใบ แต่หากจะฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรเพื่อกำจัดเชื้อราและไข่แม่ผีเสื้อที่อาจจะแอบแฝงอยู่ตามผิวเปลือกทั้งต้นและกิ่งก็สามารถทำได้
                
        ทางราก :                
      - เปิดหน้าดินโคนต้นโดยนำอินทรียวัตถุคลุมโคนต้นออกให้แดดส่องถึงพื้นดิน
                
      - งดให้น้ำเด็ดขาด                
      - สวนพื้นที่ดอนจะเปิดหน้าดินโคนหรือไม่เปิดก็ได้  ทั้งนี้ให้พิจารณาปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นเป็นหลัก ถ้าพื้นที่สวนอยู่ในที่ลุ่มระดับน้ำใต้ดินตื้นอาจจะต้องเปิดหน้าดินโคนต้น ส่วนสวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกแล้วเปิดหน้าดินโคนต้นแน่นอน                

        หมายเหตุ :                
      - หลังจากบำรุงต้นให้มีการสะสมอาหารเพื่อการออกดอกเต็มที่แล้ว  มาตรการตัดแต่งกิ่ง  รูดใบทิ้งทั้งหมด และงดน้ำก็คือการ  “ปรับ ซี/เอ็น เรโช”  นั่นเอง
      - การตัดแต่งกิ่งแล้วรูดใบออกจนหมดทั้งต้นเลยนั้นทำให้ไม่มีใบไว้สำหรับสังเกตผลของปรับ ซี/เอ็น เรโช. (ใบสลด) กรณีนี้อาจยอมให้คงเหลือใบไว้บ้างเล็กน้อย (5-10ใบ) กระจายทั่วต้น ใบที่คงเหลือไว้นี้ควรอยู่ห่างจากตุ่มตาที่คาดว่าจะมียอดใหม่พร้อมกับดอกออกมา  ก็สามารถใช้เป็นจุดสังเกตอาการใบสลดได้           
      - โดยปกติระยะเวลาการงดน้ำเพื่อให้ต้นเกิดความเครียดหรือปรับ ซี/เอ็น เรโช  ในสวนพื้นราบที่ดอนควรใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน ส่วนในสวนพื้นราบที่ลุ่มระดับน้ำใต้ดินตื้นควรใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน
      - การตัดแต่งกิ่งพร้อมกันทั้งต้นจะทำให้ดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั้งต้น แต่ถ้าตัดแต่งเฉพาะกิ่งดอกก็จะออกมาเฉพาะกิ่งที่ตัดแต่งนั้นเท่านั้น  ส่วนกิ่งที่ยังไม่ได้ตัดแต่งก็จะยังไม่ออกดอก  กรณีนี้สามารถกำหนดให้น้อยหน่าออกดอกจากกิ่งไหนก่อนหรือหลังก็ได้ตามต้องการ         

     5. เปิดตาดอก                      
        ทางใบ :                
        งดการฉีดพ่นสารอาหารทุกชนิดเพราะบนต้นไม่มีใบ แต่หากจะฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรเพื่อกำจัดเชื้อราและไข่แม่ผีเสื้อที่อาจจะแอบแฝงอยู่ตามผิวเปลือกทั้งต้นและกิ่งก็สามารถทำได้
                
        ทางราก :                
      - ให้ 8-24-24 (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.                  
      - กรณีต้นที่เปิดหน้าดินโคนต้นให้อินทรีย์วัตถุปกคลุมโคนต้นอย่างเดิม
                
      - ให้น้ำเปล่า ช่วงแรกให้วันต่อวัน 3-4 รอบ  จากนั้นให้วันเว้นวัน และวันเว้นสองวัน
               
        หมายเหตุ :                
      - เริ่มปฏิบัติหลังจากครบกำหนดงดน้ำแล้ว                  
      - เมื่อต้นได้รับน้ำต้นจะแตกใบอ่อนออกมา                
      - ธรรมชาติของน้อยหน่าทุกสายพันธุ์  เมื่อแตกยอดอ่อนจะมีดอกออกตามมาด้วย จำนวนดอกจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก หากไม่มีการสะสมตาดอกอย่างพอเพียงมาก่อน  ยอดอ่อนที่แตกออกมาใหม่อาจจะมีแต่ยอดโดยไม่มีดอกก็ได้       

       6. บำรุงดอก                
          ทางใบ :                
        - ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 5-7 วัน
        - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
          ทางราก :                
        - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น                
        - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง +  8-24-24  หรือ  9-26-26  สูตรใดสูตรหนึ่ง (1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
        - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                

         หมายเหตุ :                
       - ให้ครั้งแรกตั้งแต่ช่อดอกเริ่มปรากฏให้เห็น (พร้อมกับยอดหรือหลังยอด) และให้ไปเรื่อยๆตราบที่ยังมีดอกชุดใหม่ออกตามมาอีก                
       - ไม่ควรฉีดพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่มีส่วนผสมของกากน้ำตาล  เพราะกากน้ำตาลอาจเป็นตัวเรียกเชื้อราเข้ามาทำลายดอกได้                
       - การทำฝนชะช่อด้วยสปริงเกอร์เหนือหรือในทรงพุ่มช่วงดอกยังตูมบ้างเป็นครั้งคราวจะช่วยให้ดอกและเกสรสะอาดสมบูรณ์ส่งผลให้การผสมติดดีขึ้น                
       - ให้มูลค้างคาวบางๆบริเวณชายพุ่มแล้วรดด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพหมักจากปลาพอหน้าดินชื้นจะช่วยเสริมการออกดอกดีขึ้น                          
       - การบำรุงดอกด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. เมื่อก้านเริ่มแทงออกมาให้เห็น  1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันจะช่วยให้เกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียสมบูรณ์แข็งแรงส่งผลให้การผสมติดดีขึ้น เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ. แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมน เอ็นเอเอ.ทำเองจะได้ผลกว่า
                                          
       - ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.1 รอบ  จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
       - ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุด ตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก  ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
       - บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น  “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน”  โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ด้วยวิธีให้เดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
       - การฉีดพ่นใดๆควรกระทำในช่วงดอกตูมเท่านั้น  เมื่อถึงช่วงดอกบานต้องงดการฉีดพ่นทุกชนิดเพราะจะทำให้เกสรเปียกผสมไม่ติดได้                
       - งดการฉีดพ่นสารเคมีเด็ดขาดเพราะจะขัดขวางแมลงธรรมชาติที่เข้าช่วยผสมเกสร       

     7. บำรุงผลเล็ก                
        ทางใบ :                
      - ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม  100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ทุก 5-7 วัน
      - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
        ทางราก :                
      - นำอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นให้เหมือนเดิม                  
      - ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
                 
      - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
      - ให้น้ำเปล่าพอหน้าดินชื้น  ทุก 2-3 วัน                
      
       หมายเหตุ :                
     - เริ่มปฏิบัติหลังผสมติดหรือกลีบดอกร่วง                
     - ค่อยเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อให้ต้นรู้ตัว            

    8. บำรุงผลกลาง                
       ทางใบ :                
     - ให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14(200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ทุก 5-7 วัน
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
       ทางราก :                
     - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 (1/2 กก)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
     - ให้น้ำเปล่าปกติ  ทุก 2-3 วัน                   

       หมายเหตุ :                
     - ให้ครั้งแรกเมื่อเมล็ดเริ่มเข้าไคล                
     - ให้ทางใบด้วยไคโตซาน + ธาตุรอง/ธาตุเสริม  2-3 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลกลางจะช่วยบำรุงขยายขนาดผลให้ใหญ่และเนื้อแน่นขึ้นแต่เมล็ดมีขนาดเท่าเดิม
                
     - ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้แม็กเนเซียม. สังกะสี.  แคลเซียม โบรอน. 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก        

    9. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว                
       ทางใบ :                
     - ในรอบ 7 วันให้น้ำ 100 ล. + 0-21-74 (200 กรัม)  หรือ 0-0-50 (200 กรัม) อย่างใดอย่างหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว  ฉีดพ่นพอเปียกใบ                    
     - ให้สารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน
                                  
       ทางราก :                    
     - ให้ 13-21-21 หรือ 8-24-24 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2-1 กก.)/ ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                            

       หมายเหตุ :                
     - น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานโดยธรรมชาติอยู่แล้วต่างกันที่หวานมากหรือหวานน้อยเท่านั้นแม้จะไม่มีการบำรุงเร่งหวานทางใบ แต่ถ้าได้บำรุงด้วยสูตรเร่งหวานทางใบจะทำให้หวานจัดยิ่งขึ้น หรือหวานกว่าปกติเรียกว่าหวานทะลุองศาบริกซ์                 
     - ก่อนเก็บเกี่ยวไม่จำเป็นต้องงดน้ำเหมือนผลไม้อื่นๆแต่ก็ไม่ควรให้น้ำจนมากเกินไป  หรือให้เพียงหน้าดินชื้นก็พอ                
     - กรณีที่ในต้นมีผลเป็นรุ่นเดียวกันทั้งต้นให้ใช้ 13-13-21 แต่หลังเก็บเกี่ยวแล้วต้นจะโทรม  ต้องเร่งบำรุงพื้นฟูสภาพต้นทันทีหลังจากผลสุดท้ายออกจากต้น
                               
     - การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย  8-24-24  เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่รุ่นแรกไปแล้วจะช่วยบำรุงผลชุดหลังต่อ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม่โทรมเหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมต้นต่อการปฏิบัติบำรุงรุ่นปีต่อไปอีกด้วย                   

       วงรอบในการทำน้อยหน่านอกฤดู :                    
     * น้อยหน่าปีออกดอกช่วงเดือน  มี.ค. แล้วเป็นผลแก่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือน ก.ค. รวมเวลาตั้งแต่ออกดอกถึงเก็บเกี่ยว 4  เดือน                
     * น้อยหน่าไม่ต้องการกระทบหนาวแต่ต้องการกระทบแล้ง (ไม่มีน้ำ/งดน้ำ) ก็ชักนำให้ออกดอกได้  นั่นคือสามารถออกดอกติดผลได้ทุกฤดูกาล                
     * การทำให้ออกนอกฤดูหรือ ณ ช่วงเวลาที่ต้องการให้ถือหลักการนับจาก  วันผลแก่เก็บเกี่ยวได้  ย้อนถอยหลังมาจนถึง วันเริ่มตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อน แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้  ดังนี้
                    
    1. ตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อน 2 ชุด  ใช้เวลา  2  เดือน
    2. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก  ใช้เวลา  2- 2 เดือนครึ่ง
    3. ตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียก  ใบอ่อน + ดอก  และงดน้ำ  ใช้เวลา  10-15 วัน
    4. บำรุงดอก  ใช้เวลา 1 เดือน                    
    5. บำรุงผลเล็ก – ผลกลาง – ผลแก่  ใช้เวลารวม 4 เดือน
                    
       วิธี “เตรียมต้น” เพื่อให้ออกดอกติดผลแบบไม่มีรุ่น :                    
   1. ต้องการให้กิ่งไหนของต้นออกดอกติดผล  ให้ตัดปลายกิ่งนั้นที่บริเวณเปลือกสีเขียว (อ่อน) ชนกับสีน้ำตาล (แก่) เหลือปลายกิ่งเป็นง่ามหนังสะติ๊ก  ขาของง่ามหนังสะติ๊กยาว 1-3 นิ้ว  แล้วรูดใบเฉพาะกิ่งที่ตัดปลายนั้นออกทั้งหมด...........ต้องการให้ออกดอกติดผลกี่กิ่งในต้นก็ให้ทำเท่านั้นกิ่ง                
   2. ตัดปลายกิ่งรูดใบทิ้งแล้วบำรุงตามปกติ ประมาณ 6 สัปดาห์ จะมีใบอ่อนแตกออกมาและหลังจากใบอ่อนออมาแล้ว 1 สัปดาห์ก็จะมีดอกตามออกมาอีก  นี่คือผลชุด  1                 
   3. เมื่อผลชุด 1 โตขนาดเท่ามะนาว ให้ตัดปลายกิ่งรูดใบของกิ่งที่จะให้ออกดอกติดผลเป็นชุด 2 ด้วยวิธีการเดียวกันกับดอกชุด 1  ดอกผลที่ออกมาก็คือผลชุด 2                 
   4. เมื่อผลชุด 2 โตขนาดเท่ามะนาวก็ให้ตัดปลายกิ่งรูดใบของกิ่งที่จะให้ออกดอกติดผลชุด 3 ด้วยวิธีการเดียวกัน                    

     วิธี “บำรุง”  ต้นที่ออกดอกติดผลแบบไม่มีรุ่น :                  
      ทางใบ :                   
    - ให้น้ำ  100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 7-10 วัน
    - ให้กลูโคสผงหรือนมสัตว์สด  2-3 เดือน/ครั้ง                
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรทุก 2-3 วัน                
      ทางราก :                
    - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24(1-1.5 กก.) 2 รอบ สลับด้วย 21-7-14 (1-1.5 กก.) 1 รอบ  ห่างกันรอบละ 1 เดือน – 1 เดือนครึ่ง  สำหรับต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
    - ให้น้ำพอหน้าดินชื้น  ทุก 3-5 วัน                

      หมายเหตุ :                
      ปัจจัยที่จะทำให้การบังคับให้ออกนอกฤดู (ชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้น)หรือให้ออกตลอดปีแบบไม่มีรุ่น คือ....การเตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ ให้ยิบซั่มธรรมชาติปีละ 2 ครั้ง  ให้กระดูกป่นปีละ  1 ครั้ง  ให้ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง   ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิงจุลินทรีย์ 2-3 เดือน/ครั้ง.....เตรียมต้น  โดยทุกต้นผ่านการบำรุงแบบมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องมานานหลายปี.....เตรียมแปลง มีมาตรการควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้น
                  
        เพชรปากช่อง :                  
        น้อยหน่าสายพันธุ์ใหม่ฝีมือนักวิชาการไทย  โดยการนำน้อยหน่าต่างประเทศพันธุ์ เซริโมย่า  ผสมกับ  หนังครั่ง  ของไทย  ได้ลูกชุดแรกมาแล้วนำมาผสมต่อกับ  หนังเขียว  ของไทยอีกรอบ  คราวนี้ลูกออกมาเป็น  เพชรปากช่อง  สุดยอดน้อยหน่าอย่างที่เห็น ข้อดีที่เหนือกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิมหลายประการ  อาทิ
      - ผลขนาดใหญ่กว่าตั้งแต่ 700 กรัม-1 กก.ขึ้นไป แม้แต่ ผลที่เป็นผลก้อย น้ำหนัก 300-500 กรัม
      - จำนวนเมล็ดต่อผลน้อยและขนาดเล็กกว่าพันธุ์พื้นเมือง (เนื้อ/หนัง) 2-3 เท่า ทำให้ได้เนื้อมากมากกว่า 2-3 เท่า                
      - ความหวานสูงถึง 20 องศาบริกซ์ ในขณะที่น้อยหน่าพันธุ์พื้นเมือง (เนื้อ/หนัง) หวานเพียง 15 องศาบริกซ์เท่านั้น                
      - หลังจากเก็บเกี่ยวลงมาจากต้นแล้วนำมาบ่ม อายุบ่มใช้ระยะเวลา 5-7 วันโดยที่ผิวไม่ดำทำให้มีเวลาเพียงพอต่อการขนส่งไปยังต่างประเทศ                
      - รูปผลทรงหัวใจ  เปลือกบาง  ตาใหญ่  ร่องตื้น  แม้ว่าเปลือกจะไม่ล่อนจากเนื้อเหมือนน้อยหน่าหนังแต่ก็แกะหรือปอกได้ง่ายไม่ติดเนื้อ                
      - ลักษณะผลแก่จัดเปลือกจะเป็นสีขาวนวล   ร่องระหว่างตาเป็นสีชมพูชัดเจน  การบ่มต้องบ่มให้สุกงอมจะได้รสชาติจะหวานสนิท แต่ถ้าเก็บผลแก่ไม่จัดเมื่อนำไปบ่มจนสุกงอมแล้วจะมีรสชาติติดเปรี้ยวเล็กน้อย
      - ขยายพันธุ์ด้วยวิธี ตอน. ทาบ (ดีที่สุด). ติดตา. เสียบยอด. เสียบข้าง.  บนตอพื้นเมืองได้เหมือนไม้ผลทั่วๆไป

view