สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รุ่นคุณไพบูลย์

เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตย ระบบทุนนิยมจึงได้เริ่มเกิดขึ้น การแลกเปลี่ยนสินค้าแทบจะหมดไปจากสังคม ระบบการซื้อขายโดยใช้เงินเป็นตัวกลางเข้ามาแทนที่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่จะมีอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวจำเป็นต้องคิดถึงเกษตรกรรมแบบเชิงธุรกิจ นาย ไพบูลย์ อรัญนารถ และ ภรรยา คือ นาง สมใจ อรัญนารถ จึงเริ่มช่วยกันขยายการทำเกษตรกรรมเป็นในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยการปลูก มังคุด ให้มากขึ้น ปลูกทุเรียนพันธุ์ต่างๆให้หลากหลาย ซึ่งสมัยนั้นนิยมปลูกทุเรียนหมอนทอง ปลูกเงาะโรงเรียน จากสวนผลไม้ที่มีผลไม้ไม่กี่ชนิดก็เริ่มเป็นสวนผลไม้ผสม นอกจากผลไม้ที่ปลูกเพิ่มเติมแล้ว คุณไพบูลย์ ยังหันมาปลูก ยางพารา ซึ่งตอนนั้นขายได้ราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก


                พูดถึงการทำสวนสมัยนั้น ชาวสวนส่วนใหญ่จะปลูกพืชซึ่งขายได้ราคาหรือพืชที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ ทุเรียนหมอนทอง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก ชาวสวนก็จะแห่กันปลูกทุเรียนหมอนทองกันทุกสวน บางสวนถึงกับโค่นทุเรียนพันธุ์อื่นทิ้งเพื่อจะปลูกทุเรียนหมอนทองเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เมื่อในตลาดมีแต่ทุเรียนหมอนทอง ราคาทุเรียนหมอนทองเลยตกต่ำ แต่คุณไพบูลย์และภรรยาเห็นต่างกัน ท่านคิดว่าควรจะปลูกทุเรียนที่ กินอร่อย ถึงจะถูก ท่านทั้งสองจึงยังไม่โค่นทุเรียนพันธุ์โบราณที่บรรพบุรุษปลูกเอาไว้ และนอกจากนั้นท่านยังได้มีโอกาสได้ลองรับประทานทุเรียนพันธุ์หนึ่งที่ชื่อ ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบ เมื่อได้ลองแล้วเห็นว่าอร่อยดี จึงได้ขอกิ่งพันธุ์จากเพื่อนบ้านที่ปลูกพันธุ์นี้มา 1 ต้น และนำมาขยายพันธุ์เองจนกลายเป็น 200 กว่าต้นในปัจจุบัน (เรื่องเกี่ยวกับทุเรียนพันธุ์นกกระจิบจะอธิบายในบทต่อๆไป)


                การที่จะขายผลผลิตในสมัยนั้นไม่สามารถนำไปขายที่ตลาดได้ด้วยตัวเองเหมือนสมัยรุ่นก่อนๆ เพราะจำนวนผลผลิตที่มีมาก จึงต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง


                พ่อค้าคนกลางจะให้ราคาที่รับซื้อจากสวนถูกมากและนำไปขายในราคาแพง เช่น ทุเรียนนกกระจิบ พ่อค้าจะรับซื้อในราคาเพียง กิโลกรัมละ 15 บาท แต่ก็ต้องยอมเพราะถ้าไม่พึ่งพ่อค้าคนกลาง ผลผลิตก็จะขายไม่ทัน พูดง่ายๆก็คือ ขายได้ถูก ดีกว่าของเสีย

 

view